วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ศักราช



ศักราช หมายถึง ปีที่กำหนดเอาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสำคัญมาก สำหรับจดจารึกไว้ ศักราชที่กำหนดไว้ มี พุทธศักราช รัตนโกสินทร์ศักราช (รัตนโกสินทร์ศก) จุลศักราช และคริสต์ศักราช ศักราชเหล่านี้เริ่มต้นนับแตกต่างกัน จึงต้องมีการเทียบศักราช

ความเป็นมาของศักราช

หนังสือไทยโบราณทั้งหลาย เช่น หนังสือพงศาวดาร ประกาศกฏหมายเก่า หรือ ตำราต่างๆ ฯลฯ มักลงศักราช ไว้ต่างๆ กัน สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อจะลงศักราชบอกเวลาเป็นปี นิยมใช้ "จุลศักราช" หนังสือที่ตึพิมพ์ตั้งแต่พุทธศักราช 2431 หรือในตอนกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น หนังสือราชการ ตำราและ แบบเรียน ฯลฯ ใช้ " รัตนโกสินทรศก " แทน "จุลศักราช" ทั้งสิ้น แต่การลงศักราชเป็น"รัตนโกสินทรศก" นั้น กระทำอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะปรากฏว่าตั้งแต่พุทธศักราช 2455 เป็นต้นมา หนังสือราชการและสิ่งพิมพ์ต่างๆ หันมาใช้ "พุทธศักราช" แทน "รัตนโกสินทรศก" ตราบจนทุกวันนี้ ประโยชน์ของการเปรียบเทียบศักราชเป็นสิ่งควรจำสำหรับใช้ประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้าตำราเก่า

ศักราชตามชื่อเรียก

พุทธศักราช (พ.ศ.)

ประเทศไทยเริ่มใช้พุทธศักราชในหมู่พระสงฆ์ ก่อนที่รัชกาล 6 จะเกล้าให้นำมาใช้แทน ร.ศ. ปีพุทธศักราชของไทย ถือกำเนิดโดยให้วันปรินิพพานเป็นปี พ.ศ. 0 แต่ ศรีลังกา พม่า ลาว และเขมร นับมากกว่าเรา 1 ปี คือนับเอาวันปรินิพพานเป็นปีที่ 1 ในปัจจุบันมีค้นพบว่าพุทธศักราช มีความคลาดเคลื่อนไปจากความเข้าใจข้างต้น 60 ปี นั่นคือ เขาเชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานปี พ.ศ. 60 มิใช่ พ.ศ. 0

พุทธศักราชและคริสต์ศักราช

ในสมัยก่อน ปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินสุริยคติสากล นับเดือนที่เปลี่ยนศักราชไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ไทยจะเปลี่ยนศักราชในวันที่ 1 เมษายน ในขณะที่สากลจะเปลี่ยนในวันที่ 1 มกราคม ทำให้พุทธศักราชและคริสต์ศักราชคาบเกี่ยวกัน โดยที่สามเดือนแรกในคริสต์ศักราช (มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม) จะตรงกับพุทธศักราชก่อนหน้า เช่น ค.ศ. 1900 สามเดือนแรกจะตรงกับ พ.ศ. 2442 และเดือนอื่นๆ จะตรงกับ พ.ศ. 2443

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไปเป็น 1 มกราคม ให้เทียบเท่ากับสากล โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป จึงทำให้ พ.ศ. 2483 เหลือเพียงแค่ 9 เดือน (เมษายน - ธันวาคม)

คริสตศักราช (ค.ศ.)

เริ่มนับเอาตั้งแต่ปีที่พระเยซูคริสต์เกิดเป็น ค.ศ. 1 ซึ่งเวลานั้น พ.ศ. มีมาแล้วนับได้ 543 ปี ดังนั้นวันคริสตมาสในปี 2001 จึงครบรอบวันประสูติ 2000 ปี โดยมีวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่

การหาว่าวันปีใหม่เป็นวันอะไร

หากต้องการทราบว่าวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันอะไร คำนวณได้ด้วยการเอาปี ค.ศ. ทีต้องการมาลบด้วย 1 แล้วหารด้วย 28 หากเหลือเศษ

  • 1, 7, 18, 24 เป็น อาทิตย์
  • 2, 8, 13, 19 เป็น จันทร์
  • 3, 14, 20, 25 เป็น อังคาร
  • 4, 9, 15, 26 เป็น พุธ
  • 5, 11, 22, 0 เป็น ศุกร์
  • 6, 12, 17, 23 เป็น เสาร์

พุทธศักราชและคริสต์ศักราช

หากต้องการทราบว่า พ.ศ. หนึ่งเป็น ค.ศ. ใดให้เอา 543 มาลบจาก พ.ศ. ก็จะเป็น ค.ศ. ในตรงกันข้ามหากต้องการทราบว่า ค.ศ. หนึ่งเป็น พ.ศ. ใดให้เอา 543 มาบวก

มหาศักราช (ม.ศ.)

หรือที่ชาวอินเดียเรียกว่า ศกาพทะ หรือ ศาลิวาหนกาล แปลว่า ปีของชาวศกะ (Scythian) เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเจ้าศาลิวาหนะ หรือบางตำนานเรียกว่า พระเจ้ากนิษกะ แห่งศกราชวงศ์ ทรงมีชัยชนะเหนือแคว้นโดยรอบ เป็นมหาศักราชที่ 1 มีวิธีการนับวันเดือนปีจะเป็นไปตามสุริยคติ โดยวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เกิดก่อนพุทธศักราช 621 ปี

จุลศักราช (จ.ศ.)

เป็นการนับเดือนปีเป็นแบบทางจันทรคติ เริ่มนับ จ.ศ. 1 เมื่อปี พ.ศ. 1182 โดยนับเอาวันที่พระบุพโสระหัน สึกออกจากการเป็นพระมาเพื่อชิงราชบัลลังก์เป็นวันแรกของศักราช ในสมัยโบราณถือตามสุริยคติ (คัมภีร์สุริยยาตร) ใช้วันเถลิงศก (ปัจจุบันตกราว 16 เมษายน) เป็นวันปีใหม่ แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าให้ถือตามจันทรคติ คือใช้วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปีเป็นวันสิ้นปี

ในเอกสารโบราณของไทยจำนวนไม่น้อย นิยมอ้างเวลา โดยใช้จุลศักราช โดยใช้ควบคู่กับปีนักษัตร หรือ ระบุเฉพาะเลขตัวท้ายของจุลศักราช และปีนักษัตร ทำให้สามารถระบุปี ได้ในช่วงกว้างถึงรอบละ 60 ปีเลยทีเดียว

การเรียกศกตามเลขท้ายปี

ในระบบการเรียกศกตามเลขท้ายปีจุลศักราช นิยมเรียกด้วยศัพท์บาลี ดังนี้

  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 1 เรียก "เอกศก"
  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 2 เรียก "โทศก"
  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 3 เรียก "ตรีศก"
  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 4 เรียก "จัตวาศก"
  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 5 เรียก "เบญจศก"
  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 6 เรียก "ฉศก"
  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 7 เรียก "สัปตศก"
  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 8 เรียก "อัฐศก"
  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 9 เรียก "นพศก"
  • ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 0 เรียก "สัมฤทธิศก"

รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)

เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 108 โดยถือเอาปีที่ตั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง เป็นปีรัตนโกสินทร์ศกที่ 1 และใช้อยู่จนถึง ร.ศ. 131 เป็น ร.ศ. สุดท้าย หรือเพียง 23 ปี ก็เลิกใช้ไป เพราะเห็นว่าไม่สะดวกในการอ้างอิงปีในประวัติศาสตร์ เช่น กล่าวว่า ไทยเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปีที่ 15 ก่อน ร.ศ. เป็นต้น

กลียุคศักราช หรือกลียุคกาล (ก.ศ.)

เป็นศักราชจากชมพูทวีป และเป็นศักราชที่เก่าที่สุดที่ปรากฏในบันทึกของไทย เกิดก่อนพุทธศักราชถึง 2558ปี

วิกรมาทิตย์ศักราช (ว.ศ.)

หรือวิกรมสังวัตเป็นศักราชจากชมพูทวีป แต่ไม่มีปรากฏในบันทึกของไทย เกิดหลังพุทธศักราช 486 ปี

ศักราชพระเจ้าเหลือง (ล.ศ.)

เป็นศักราชที่ถือกำเกิดโดยพระเจ้าเหลืองมหาราช ของดินแดนที่เป็นประเทศจีนในปัจจุบัน เกิดก่อนพุทธศักราช 2154 ปี ในปัจจุบันมีข้อถกเถียงว่า ตัวเลขของศักราชนี้อาจมีค่ามากเกินไป 60 ปี เช่นเดียวกับ พ.ศ. และหรืออาจนับเอา ล.ศ. 0 เป็นปีตั้งศักราชด้วยก็ได้


*** ศักราชทุกชนิดไม่มีศักราช 0 เช่นก่อนค.ศ. 1 คือ 1 ปีก่อนคริสตกาล เป็นต้น